วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเล่นกีฬาตะกร้อในลักษณะกีฬาตะกร้อลอดห่วงและกีฬาตะกร้อวง


"ตะกร้อลอดห่วง" อีกหนึ่งกีฬาไทยๆ

หลังจากมีโอกาสได้พาท่านผู้อ่านไปติดตามการแข่งขันตะกร้อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ ปริ๊นเซส คัพ ครั้งที่ 14 กันมาแบบเกาะติดขอบสนามกันแล้วเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มาครั้งนี้จึงอยากขอแนะนำ ให้ท่านผู้อ่านหลายๆ ทุกคน มาทำความรู้จักกับกีฬาประเภทนี้กันให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นกีฬาพื้นบ้านของประเทศไทย แบบของแท้แน่นอน ซึ่งผู้คนสมัยก่อนก็ให้ความสนใจ และเป็นที่นิยมเล่นอย่างมาก แต่จะขอแนะนำเพียงประเภทเดียวเท่านั้นคือการแข่งขัน "ตะกร้อลอดห่วง" ซึ่งจัดเป็นกีฬาออริจินอล (Original) ของแท้ดั้งเดิมของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เพราะยังไม่ได้นำเข้าสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ
เริ่มจากจำนวนผู้แข่งขันต่อหนึ่งทีมจะอยู่ที่ 10 คน แต่เวลาทำการแข่งขันจะลงสนามเพียงแค่ 7 คนเท่านั้น สำหรับอายุผู้เข้าแข่งขันนั้นไม่เป็นที่จำกัด ซึ่งทักษะพื้นฐานสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นตะกร้อลอดห่วงนั้น ไม่มีอะไรมากขอเพียงแค่ใจรักเป็นพอ คุณก็สามารถเล่นได้แล้ว สนามที่ใช้ทำการแข่งขัน ควรเป็นพื้นราบ ซึ่งจะเล่นกันในที่ร่มหรือกลางแจ้งก็ได้ ความยาวของสนามจะอยู่ที่ 8 เมตรเป็นอย่างต่ำ เพราะเนื้อที่ของสนามแข่งขันนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการแข่งขันตะกร้อลอดห่วง นั่นคือ เส้นวงกลมที่อยู่บริเวณตรงจุดศูนย์กลางสนาม ซึ่งต้องมีรัศมี 2 เมตร สำหรับความกว้างของเส้นวงกลม จะอยู่ที่ 1.5 นิ้ว
สำหรับอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญ และจำเป็นต้องมีในการแข่งขันตะกร้อลอดห่วง นั่นก็คือ ห่วงชัย ซึ่งจะประกอบด้วยวงกลม 3 ช่อง ขนาดเท่ากัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดจากภายในยาว 40 ซม. โดยห่วงทั้ง 3 นี้ต้องทำด้วยโลหะ หวาย หรือไม้ก็ได้ วัดโดยรอบ 1 ซม. แต่ต้องผูกหรือบัดกรีติดกันให้แน่นเป็นรูป 3 เส้า วงห่วงแต่ละห่วงต้องตั้งตรง และมีถุงตาข่ายทำด้วยด้ายสีขาว ผูกรอบห่วงทุกห่วง เพื่อความสวยงาม หรือจะใช้กระดาษสีพันรอบห่วงทั้ง 3 ก็ได้ ตามแต่จะชอบ โดยความสูงของห่วงชัยต้องจากพื้นสนามอยู่ที่ 5.75 เมตร
สิ่งสุดท้ายที่จำเป็นต้องมี คือ ตะกร้อ ต้องสานด้วยหวาย 9-11 เส้น หรือใยสังเคราะห์ ขนาดเส้นรอบวงไม่เกิน 17 นิ้ว และไม่น้อยกว่า 16 นิ้ว หนักประมาณ 160-200 กรัม ซึ่งผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะให้หนักแค่ไหน และจะต้องหามาเองเวลาทำการแข่งขัน
สำหรับกฎกติกา มารยาทของการแข่งขันก็ไม่มีอะไรมาก ซึ่งแต่ละทีมที่ทำการแข่งขันจะใช้เวลาเพียงแค่ 40 นาทีเท่านั้น โดยจะมีกรรมการคอยควบคุมเพียง 3 คน และประธานกรรมการผู้ตัดสินอีก 1 คน สำหรับการให้คะแนน ก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะของท่า ที่ผู้เล่นสามารถทำตะกร้อลอดห่วงได้
โดยคะแนนของแต่ละท่า ก็จะมีแต้มไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 3-30 คะแนน ขึ้นอยู่กับความยาก-ง่ายของแต่ละแบบ ซึ่งมีทั้งหมด 30 ท่า จะ แบ่งเป็นลูกด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ผู้เล่นแต่ละคนไม่สามารถเล่นแต่ละท่าเกิน 2 ครั้ง หากเกินจะถือว่าแต้มนั้นเป็นโมฆะ ทีมใดสามารถทำคะแนนได้มากสุดภายใน 40 นาที ก็ถือเป็นผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนั้นๆ
ลักษณะของแต่ละท่า มีดังนี้ การเล่นด้านหน้า แบ่งเป็น ลูกหน้าเท้า ลูกหลังเท้า ลูกไขว้หน้าด้วยหลังเท้า ลูกแข้ง ลูกเข่า ลูกไขว้หน้าด้วยเข้า ลูกไหล่ และลูกศีรษะ (โหม่ง) การเล่นด้านข้าง แบ่งเป็น ลูกข้าง ลูกข้างห่วงมือ ลูกไขว้ ลูกไขว้ตบห่วงมือ ลูกสันไขว้ ลูกสันไขว้ห่วงมือ ลูกขึ้นม้า ลูกขึ้นม้าห่วงมือ ลูกพับเพียบ ลูกพับเพียบห่วงมือ และลูกตัดไขว้ สุดท้ายการเล่นด้านหลัง ก็มีทั้ง ลูกศอกหลัง ลูกตบธรรมดา ลูกข้างหลัง ลูกแทงส้นตรงหลัง ลูกแทงส้นตรงหลังห่วงมือ ลูกข้างหลังห่วงมือ ลูกตบหลังห่วงมือ ลูกตบหลังแป ลูกตบหลังสองเท้าพร้อมกัน ลูกพับหลังตบ และลูกพับหลังตบห่วงมือ
การทำคะแนนของแต่ละท่า ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล ซึ่งก็มาจากการฝึกฝนที่มีอย่างสม่ำเสมอ โดยแต่ละคนก็จำเป็นต้องฝึกให้ถนัดในทุกๆ ท่า เพราะแต่ละท่านั้นทำคะแนนได้เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น
เป็นอย่างไรบ้างคะ หลังจากได้ฟังกฎ กติกา มารยาท ของกีฬาตะกร้อลอดห่วงกันแล้ว คงจะงง กันเป็นไก่ตาแตกเลยสิน่ะคะ เพราะท่านผู้อ่านคงนึกไม่ออกว่าแต่ละท่า เป็นอย่างไร เหมือนกับดิฉันในช่วงแรกคะ หลังจากได้อ่านกติกาของกีฬาประเภทนี้แล้ว เหวอ! เลยคะ แต่หลังจากได้ดูเป็นครั้งแรก ก็รู้สึกชอบ และเพลินกับเกมการแข่งขันคะ เพราะเป็นกีฬาที่อาศัยท่าทาง การทำคะแนนที่สวยงามมากคะ นอกจากนี้ยังต้องคอยลุ้นว่าใครจะทำแต้มด้วยท่าอะไร ก็อย่างที่บอกคะ ว่าแต่ละท่านั้นสามารถทำได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น แล้วไหนยังต้องมาคอยลุ้นผลการแข่งขันเมื่อถึงรอบลึกๆ แล้วอีก จึงเป็นอะไรที่สนุกทวีคูณยิ่งขึ้นเลยคะ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หลังจากทราบกฎกติกาคร่าวๆ ของการแข่งขันตะกร้อลอดห่วงกันแล้ว และหากท่านผู้อ่านท่านใดต้องการชมการแข่งขันกีฬาประเภทนี้แล้ว ก็อยากฝากให้รอติดตามกันก่อน เพราะเร็วๆ นี้ คงมีให้ชมกันแน่นอน ทั้งในระดับประชาชน และเยาวชน โดยในเวลานี้ทางสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย ได้กำหนดโครงการคร่าวๆ ของแผนการจัดการแข่งขันตะกร้อลอดห่วงนานาชาติ เพราะทางสมาคมฯ ต้องการให้กีฬาประเภทนี้เป็นที่แพร่หลายในระดับนานาประเทศ
ดังนั้น ก็ไม่แน่นะคะ ว่าในเร็วๆ นี้ กีฬาพื้นบ้านของประเทศไทยประเภทนี้ อาจจะเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติทั่วไปก็เป็นได้ หรือการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ หรือเอเชียนเกมส์ ครั้งต่อๆ ไป อาจมีการบรรจุตะกร้อลอดห่วงเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬา ถึงอย่างไรก็ตาม ใคร่ขอฝากเชิญชวนพ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนพ้อง ชาวไทย ให้ความสนใจกับการแข่งขันตะกร้อประเภทนี้บ้าง แล้วเราจะได้เป็นยอดของวงการลูกหวายในระดับนานาชาติต่อไป

ตะกร้อวง…2 ความหวังเหรียญทองไทย

หลังจากเคยแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับกีฬาพื้นบ้านดั้งเดิมอย่าง "ตะกร้อลอดห่วง" ไปแล้ว ครั้งนี้จะขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับกีฬาอีกหนึ่งประเภท ซึ่งเป็นกีฬาที่เพิ่งจะเริ่มทำการแข่งขันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 หรือ บางกอกเกมส์ เป็นครั้งแรก และในศึกบูซานเกมส์ หรือเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 14 นี้ ก็จะเป็นการแข่งขันในครั้งที่ 2 ของหมู่มวลชาวเอเซีย ซึ่งกีฬาประเภทนี้ก็จัดได้ว่าเป็นอีก 2 ความหวังเหรียญทองของชาวไทยเลยทีเดียว จากจำนวนทั้งหมด เหรียญที่ทางสมาคมตะกร้อตั้งความหวังกันเอา
เกริ่นกันมาตั้งนาน ท่านผู้อ่านคงอยากรู้กันบ้างแล้วว่าเป็นกีฬาอะไร ถึงเป็นความหวังถึง 2 เหรียญทองของไทย นั่นก็คือ "ตะกร้อวง" โดยจากการแข่งขันบางกอกเกมส์ครั้งที่แล้ว ประเทศไทยเราก็สามารถพิชิตมาได้ถึง 2 เหรียญทองด้วยกัน จากในประเภทชาย และประเภทหญิงอย่างละหนึ่งเหรียญ เรียกว่าเหมาเหรียญกันเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าพวกเราชาวไทยจะตั้งความหวังคาดหมายไว้ว่า ในศึกบูซานเกมส์ ครั้งที่ 14 ช่วงระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 14 ตุลาคมนี้
แต่จะมีใครสักกี่คน ที่จะรู้จักกับกีฬาประเภทนี้อย่างละเอียดนัก เพราะเป็นกีฬาที่จัดว่าใหม่กันเลย นอกจากนักกีฬา หรือกรรมการ รวมทั้งคณะกรรมการสมาคมตะกร้อของแต่ละประเทศ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของดิฉันที่จะอาสานำเรื่องราว กฎ กติกา ระเบียบข้อบังคับต่างๆ มาให้ท่านผู้อ่านกองเชียร์ชาวไทย ได้ทำความรู้จักถึงเรื่องเหล่านี้ เพื่อจะได้ช่วยติดตามเชียร์นักกีฬาตะกร้อวงของไทย ให้มีอรรถรสมากยิ่งขึ้น และดิฉันก็เชี่อแน่ว่าคนไทยกว่าทั้งประเทศต้องชื่นชอบ และติดตามดูกีฬาตะกร้อของไทยกันอยู่แล้ว
เริ่มจากจำนวนผู้เล่นของแต่ละทีมต้องมีจำนวนทั้งสิ้น 6 คน แต่จำนวนผู้ลงสนามทำการแข่งขันมีเพียง 5 คนเท่านั้น ซึ่งจะมีผู้เล่นที่เหลืออีก 1 คนเป็นตัวสำรอง แล้วสามารถทำการเปลี่ยนตัวได้เพียง 1 ครั้งก่อนเริ่มการแข่งขันของแต่ละรอบ โดยผู้จัดการ หรือผู้ฝึกสอนต้องแจ้งการเปลี่ยนตัวต่อผู้ตัดสินก่อน ซึ่งการเปลี่ยนตัวนักกีฬานี้ ผู้ตัดสินจะอนุญาตเฉพาะกรณีนักกีฬาได้รับบาดเจ็บ และไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้เท่านั้น ที่สำคัญนักกีฬาที่ลงเล่นแทนต้องสวมเสื้อหมายเลขเดียวกับนักกีฬาที่ถูกเปลี่ยนตัวออก
ส่วนของสนามแข่งขัน ควรเป็นที่โล่ง แต่จะเป็นในร่ม หรือกลางแจ้งก็ได้ ซึ่งพื้นสนามนั้นต้องมีวงกลมอยู่ตรงกลาง 2 วง ซึ่งวงกลมทั้ง 2 นี้ต้องมีจุดศูนย์กลางร่วมกัน วงกลมใน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร วงกลมนอก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เมตร ซึ่งพื้นที่ระหว่างวงกลมนอก และวงกลมใน นั่นคือ พื้นที่แข่งขัน ลูกตะกร้อที่ใช้ทำการแข่งขัน จะเหมือนกับลูกตะกร้อทั่วไปคือ เป็นวงกลม ทำด้วยใยสงเคราะห์ที่มี 12 รู และมีจุดสานตัดไขว้กัน 20 จุด สำหรับประเภททีมชาย ลูกตะกร้อต้องมีเส้นรองวง 0.42-0.44 เมตร สำหรับลูกตะกร้อวง โดยน้ำหนักที่ใช้ในการแข่งขันต้องไม่น้อยกว่า 170 กรัม และไม่มากกว่า 180 กรัม ของผู้หญิงจะมีเส้นรอบวง 0.43-0.45 เมตร ด้านน้ำหนักจะอยู่ที่ 150-160 กรัม
เครื่องแต่งกายของผู้เล่น ฝ่ายชายต้องใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น และรองเท้ากีฬาพื้นยาง ส่วนของผู้หญิงจะใส่เสื้อยืดคอกลม มีแขน และกางเกงขาสั้น หรือกางเกงกีฬาขายาว และรองเท้ากีฬาพื้นยาง ซึ่งจะอนุญาตให้ใส่เครื่องป้องกันศีรษะ และไหล่ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้สิ่งใดก็ตามที่มีผลต่อความเร็วของลูกตะกร้อ เสื้อของนักกีฬาทุกคนต้องติดหมายเลขที่ด้านหน้า และด้านหลังให้ชัดเจน โดยจะมีเพียงหมายเลข 1-18 เท่านั้น ด้านหัวหน้าทีมต้องใส่ปลอกแขนที่ด้านซ้าย ตำแหน่งของนักกีฬาทั้ง 5 คนที่ต้องยืนอยู่ในบริเวณพื้นที่แข่งขัน ซึ่งต้องหันหน้าเข้าหาวงกลมใน ยืนเรียงตามตำแหน่งหมายเลข 1,3,5,2,4 ตามเข็มนาฬิกา หรือทวนเข็มนาฬิกาก็ได้ ในช่วงทำการแข่งขันจะไม่อนุญาตให้นักกีฬาเปลี่ยน หรือ ยืนสลับตำแหน่งการยืน
กฎ กติกา การเล่น นักกีฬาสามารถใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อเตะ หรือ ส่งลูก แต่จะยกเว้น มือ และ แขน ความสำคัญของตะกร้อวง เริ่มจาก ผู้เล่นหมายเลข 1 โยนลูกให้กับผู้เล่นหมายเลข 2 จากนั้นผู้เล่นหมายเลข 2 ต้องส่งผ่านลูกด้วยท่าคะแนนความยากระดับที่ 1 ให้ผู้เล่นหมายเลข 3 จากนั้นหมายเลข 3 จะส่งต่อหมายเลข 4 จากนั้นหมายเลข 4 จะส่งต่อให้หมายเลข 5 แล้วก็จะย้อนกลับไปยังหมายเลข 1 ต่อ
หากส่งลูกผิดลำดับ กรรมการชี้ขาด จะขานฟาวล์ และหยุดทำการแข่งขันทันที ซึ่งผู้เล่นที่ส่งลูกไปผิดนั้น ก็จะต้องรับลูกกลับคืนมายืนที่ตำแหน่งของตน แล้วจึงโยนต่อไปให้ผู้เล่นในลำดับต่อไปเพื่อเล่นต่อ โดยต่อละ 1 ครั้ง ผู้เล่นสามารถเล่นลูกได้ไม่เกิน 3 ครั้งติดต่อกันไม่ว่าจะอยู่ในภายในพื้นที่ หรือนอกพื้นที่แข่งขันก็ตาม ก่อนจะส่งลูกให้ผู้เล่นลำดับต่อไป แต่ขณะส่งลูก เท้าของผู้เล่นต้องยืนอยู่ในพื้นที่แข่งขันเท่านั้น ถึงจะได้คะแนน ในเรื่องของเวลาที่ใช้ทำการแข่งขันในรอบคัดเลือก แต่ละทีมจะทำการแข่งขันทีมละ 10 นาที ส่วนผลของแต่ละทีมในรอบนี้ จะนำคะแนนของแต่ละทีมมาจัดลำดับเพื่อแบ่งเป็นกลุ่มลำดับเลขคู่-คี่ เพื่อทำการแข่งขันในรอบ 2 แต่ละทีมจะเล่น 3 เซต แต่ละช่วงนั้นจะเล่นกัน 10 นาที แล้วจะมีช่วงพักเพียง 2 นาที แล้วสองทีมที่ได้คะแนนมากสุดของแต่ละกลุ่ม จะได้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ สำหรับรอบชิงชนะเลิศ แต่ละทีมจะเล่น 3 เซต ละ 10 นาที พักระหว่างช่วง 2 นาที ลำดับทีมชนะเลิศ จะเป็นไปตามลำดับคะแนนมาก
การให้คะแนน จะมีความยากระดับ 1 และระดับ 2 โดยความยากระดับ 1 จะมีท่าที่จะใช้ลูกศีรษะ หน้าเท้า หน้าแข้ง ลูกเข่า ลูกไหล่ หลังเท้า ข้างเท้า จะมีแต้มให้ 1 คะแนน ในส่วนของความยากระดับ 2 จะมีเพียงการใช้ลูกกระโดดไขว้เท้าเตะ และลูกเตะจากด้านหลังด้วยส้น หรือเท้า ซึ่ง 2 ท่านี้จะมีแต้มให้ 3 คะแนน แต่ถ้าในขณะเตะ หรือส่งลูก ผู้เล่นบังเอิญพลาดไปเหยียบเส้นรอบวง ด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะไม่นับว่าเป็นคะแนน และถ้าในขณะเตะ หรือส่งลูก นักกีฬาไม่อยู่ในพื้นที่แข่งขัน ก็จะไม่ได้คะแนนเช่นกัน ซึ่งก็ต้องเริ่มเล่นกันใหม่ ซึ่งจะเริ่มจากผู้ที่ทำฟาวล์ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ในเรื่องของผู้ตัดสิน จะมีทั้งหมด 4 คนด้วยกัน จะมีอยู่ภายในบริเวณทำการแข่งขัน 1 คนซึ่งมีหน้าที่คอยประกาศคะแนน ส่วนที่เหลืออีก 3 คนจะอยู่บริเวณด้านนอก ก็จะมีผู้ตัดสินชี้ขาด ผู้ช่วยผู้ตัดสินควบคุมเวลา และผู้ช่วยผู้ตัดสินบันทึกคะแนน ในส่วนของกรรมการผู้ตัดสินครั้งนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากครั้งที่แล้ว คือ แต่เดิมผู้ตัดสินภายในบริเวณทำการแข่งขันที่มีหน้าที่ประกาศคะแนน จะมีด้วยกัน 3 คน
หากเปรียบเทียบระหว่างตะกร้อลอดห่วง และตะกร้อวง จะมีความเหมือนกันตรงท่าทางที่เล่น แล้วจะยืนเล่นกันเป็นวงๆ แต่จำนวนผู้เล่นตะกร้อวงจะมีเพียง 5 คน แต่ตะกร้อลอดห่วงจะมีถึง 7 คน ความแตกต่างของทั้ง 2 ประเภท ยังมี ตะกร้อวงไม่จำเป็นต้องใช้ห่วง ตะกร้อวงมีคะแนนเพียง 1,3 แต้ม แต่ตะกร้อลอดห่วงมีถึง 3-30 คะแนนทีเดียว
จุดสำคัญของตะกร้อวงคือ ความสวยงาม เพราะรูปแบบของการเล่นนั้น ผู้เล่นทั้ง 5 คนต้องโยนส่งต่อ ลูกตะกร้อไปๆมาๆ ให้เป็นรูปดาว แล้วท่าทางเวลาส่งต่อ ก็จะมีความหลากหลาย ซึ่งต้องอาศัยทักษะของผู้เล่นแต่ละคนทำคะแนน หากท่านผู้อ่าน ได้อ่านเพียงแค่ตัวหนังสือนี้ คงจะยังไม่เข้าใจรูปแบบของเกมกีฬาประเภทนี้ เพราะนึกภาพการแข่งขันไม่ออก และอาจเนื่องด้วยการแข่งขันตะกร้อวง ไม่ค่อยมีให้พบเห็นมากนัก แต่เชื่อแน่ว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ตะกร้อวง คงเป็นอีกหนึ่งประเภทกีฬาที่เข้าไปนั่งอยู่ในใจกองเชียร์หลายราย เพราะกีฬาประเภทนี้มีความสวยงามอย่างที่กล่าวมาแล้วให้ชมเพื่อความเพลิดเพลิน และสิ่งสำคัญคือ การแข่งขันตะกร้อวง เป็นอีกหนึ่งเกมกีฬาที่ประเทศไทย สามารถตั้งความหวังที่จะคว้าเหรียญทองมาครองได้อย่างแน่นอน
ท้ายสุด สุดท้าย อยากฝากถึงกองเชียร์ชาวไทยทุกคน ให้ติดตามผลงานของทีมตะกร้อวง ทั้งประเภทชาย และประเภทหญิง ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 14 หรือ บูซานเกมส์ ที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นการเรียนรู้กีฬาอีกหนึ่งประเภท ที่ยังไม่ค่อยพบเห็นมากนัก และเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬาของเรา ที่เตรียมคว้าชัยเหรียญทอง มาจากกีฬาใหม่ๆ แบบนี้


>>หน้าแรก